ภูมิหลัง

คณะสังคมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของสถาบันการศึกษาระดับสูง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการที่จะส่งเสริมความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ และมีบุคลากรซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ และความสนใจในปัญหาสตรีอยู่ จึงได้จัดตั้งโครงการสตรีศึกษาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยตลอดจนรวบรวมข้อมูลในประเด็นปัญหาสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาสตรี

ต่อมาได้มีการยกฐานะและรับรองโครงการสตรีศึกษาเป็นศูนย์สตรีศึกษา ในฐานะหน่วยงานระดับภาควิชาสังกัดคณะสังคมศาสตร์ ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการแยกหน่วยราชการนับแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ศูนย์สตรีศึกษาตั้งอยู่ในอาคารสตรีศึกษา และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างจาก TV Campaign for Third World Women’ 89 ของประเทศนอร์เว โดยการประสานของ Norwegian Association of Women Jurists (NAWJ) และมีอาคารของโครงการฝึกอบรมกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบท ด้วยการสนับสนุนทุนจาก Norwegian Association of Women Jurists (NAWJ) และ Frauan Stiftung แห่งประเทศเยอรมัน ซึ่งขณะนั้นได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ Heinrich Boll Foundation

หลังจากนั้น ในปี 2551 ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


หลักการและเหตุผล

ผลกระทบของกระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมต่อมนุษย์เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสตรี ซึ่งมีเป็นจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก แต่ยังคงถูกมองข้ามไปในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ โลกทางวิชาการ จำเป็นต้องมีมิติที่กว้างขวางและเป็นอิสระ ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นผู้หญิง จึงควรจะได้มีการสนับสนุน และขยายงานให้รุดหน้าไปให้ก้าวทันกับการศึกษาด้านอื่น ๆ การมองปัญหาที่เกี่ยวกับสถานภาพ บทบาท ความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ในสังคมของสตรีในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองจำต้องมีการวิเคราะห์กันอย่างเป็นระบบและอย่างรอบด้าน

ความรู้ ความเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาเฉพาะนี้ตลอดจนการเผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของสถาบันการศึกษาที่จักต้องมุ่งเน้นให้เกิดมีขึ้น และการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องข้อมูลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสตรี ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านสตรีศึกษา ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ตั้งแต่สหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2518 เป็นปีสตรีสากล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีเพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาสันติภาพของโลก และมีการกำหนดให้ปี พ.ศ. 2518-2528 เป็นทศวรรษสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ และขอให้ประเทศสมาชิกจัดให้มีองค์กรสตรีระดับชาติ ในการนี้รัฐบาลไทยได้สนองรับนโยบาย และกำหนดให้สตรีเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาบทบาทและความสามารถของสตรีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)

ถึงแม้ว่าทศวรรษสตรีแห่งสหประชาชาติจะได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็มิได้หมายความว่า การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสตรีจะยุติตามลงไปด้วย เพราะภารกิจสำคัญยิ่งที่ผูกมัดรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดก็คือการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประเทศนั้น สตรีย่อมมีบทบาทสำคัญ และในการพัฒนานั้นย่อมต้องคำนึงถึงเงื่อนไขด้านคุณภาพของประชากรด้วย ดังนั้น งานพัฒนาสตรีจึงยังต้องดำเนินต่อไป ทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ


ปรัชญา

ภาควิชาสตรีศึกษา เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนและขยายงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยอยู่บนฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติโดยรวม


ปณิธาน

เป็นภาควิชาสตรีศึกษา แห่งแรกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่จัดตั้งขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านสตรีศึกษา เป็นแหล่งผลิต สะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ด้านสตรีศึกษา เพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และสิทธิมนุษยชนสตรี เป็นแหล่งความรู้วิชาการ และการประยุกต์ เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์แก่สังคมท้องถิ่น ประเทศ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ


วิสัยทัศน์

เป็นภาควิชาที่ได้มาตรฐานสากล ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิชาการและ มีจิตสาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัย การให้บริการวิชาการ เพื่อให้มีการประยุกต์ใช้ความรู้สตรีศึกษา เพื่อสร้างและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและสิทธิมนุษยชนสตรีในสังคมท้องถิ่น ประเทศ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ


พันธกิจ

  1. จัดการศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต โดยมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และรับผิดชอบ รอบรู้ในด้านสังคม รวมถึงการเปิดกระบวนวิชาสำหรับปริญญาตรี
  2. ผลิตผลงานวิจัย สาขาวิชาสตรีศึกษา เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ถ่ายทอด และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและสิทธิมนุษยชนสตรีในสังคมท้องถิ่นและของประเทศได้
  3. ให้บริการวิชาการแก่สังคม มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ตระหนักในสิทธิมนุษยชนสตรี และสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคมทุกระดับ
  4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ศาสนา อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นให้สิทธิเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการเคารพในสิทธิมนุษยชนสตรี
  5. พัฒนาระบบบริหารและจัดการในทุกๆ ด้าน ด้วยหลักธรรมาภิบาล พึ่งพาตนเอง โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุประสงค์

  1. ผลิตบัณฑิตด้านสตรีศึกษา ที่มีความรู้ ความสามารถได้ระดับมาตรฐาน ที่เป็นผู้มีความคิดใฝ่รู้ มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และจิตสาธารณะ
  2. พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้มีความก้าวหน้า หลากหลาย และสามารถบูรณาการกับความรู้ข้ามสาขาอื่น เพื่อสร้างเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและสิทธิมนุษยชนสตรีในสังคมท้องถิ่นและประเทศ
  3. ส่งเสริมและผลิตงานวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และเพื่อสร้างเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และสิทธิมนุษยชนสตรีในสังคมท้องถิ่น ประเทศอนุภูมิภาค
  4. ลุ่มน้ำโขง (GMS) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและนานาชาติ
  5. เผยแพร่องค์ความรู้ และให้บริการวิชาการแก่สังคมภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  6. อนุรักษ์และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มุ่งเน้นในสิทธิเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการเคารพในสิทธิมนุษยชนสตรี

งานด้านวิจัยและวิชาการ

  1. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์สตรีศึกษา งานวิจัย งานเขียนตำราวิชาการ และการเขียนบทความลงวารสารวิชาการ
  2. ดำเนินการจัดทำวารสารทางวิชาการ ด้านสตรีศึกษา

งานด้านบริการวิชาการแก่สังคม

ภาควิชาสตรีศึกษาได้เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนผ่านการฝึกอบรม-สัมมนา ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะกิจของมหาวิทยาลัย โดยงานบริการวิชาการนี้ มีทั้งที่เป็นโครงการที่ศูนย์ฯดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเครือข่ายสตรี ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ

  • โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบท
  • โครงการฝึกอบรมนักวิจัยด้านสตรีศึกษา
  • โครงการสัมมนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
  • โครงการค่ายส่งเสริมความเข้าใจด้านเพศภาวะ
  • กิจกรรมรณรงค์ในประเด็นสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ
  • กิจกรรมอ่านภาพยนตร์จากมุมมองสตรีนิยม