มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท
Foundation for Women, Law and Rural Development (FORWARD)
หลักการและเหตุผล
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งได้บัญญัติให้ความคุ้มครอง รับรองสิทธิ และสร้างหลักประกัน รวมถึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งยังกำหนดให้มีมาตรการและกระบวนการต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง และในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และในขณะเดียวกันก็เพื่อต้องการส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
หลักการและมาตรการต่างๆตามที่กำหนดไว้ดังปรากฏในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาและสถานะของความสัมพันธ์หญิงชายอันเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนกระทั่งความสัมพันธ์ในระดับประเทศ แต่ในอดีตแม้จะมีความพยายามที่จะดำเนินการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไข หรือมีมาตรการทั้งทางกฎหมาย การเมืองการปกครอง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมกันมาแล้วก็ตาม แต่มาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย ประกอบกับแนวทางในการผลักดัน เรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาในแนวทางที่ดำเนินการมา แม้จะสามารถแก้ปัญหาไปได้บ้างก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นแนวทางที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อันเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ในประการสำคัญการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่มีระบบและการจัดองค์กรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้สามารถสรุป ประเมิน ติดตามผลและสังเคราะห์การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาค และความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลวให้เป็นองค์ความรู้เฉพาะ อันจะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและเป็นการถาวร
การยกระดับให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกด้าน ในความสัมพันธ์หญิงชาย การกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในทางด้านวิชาการที่พัฒนามาจนถึงกระทั่งมีการเปิดสอนหลักสูตรสตรีศึกษาขึ้น ความพยายามที่จะสร้างนักวิจัยทางด้านสตรีศึกษา รวมถึงกิจกรรมการสร้างเครือข่ายในระดับต่างๆ ทั้งในระดับรากหญ้า ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ที่ต้องครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เป็นความจำเป็นทั้งสิ้น
ดังนั้น เพื่อต้องการที่จะทำให้หลักการสำคัญๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของความสัมพันธ์หญิงชาย รวมถึงการที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตย การนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และที่สำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นความสัมพันธ์หญิงชายและสิทธิมนุษยชน จึงต้องพิจารณาถึงรูปแบบการจัดองค์กรในลักษณะต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรม รวมถึงการพิจารณาข้อดีข้อเสีย ความเป็นไปได้ และแนวโน้มของพัฒนาการของสังคมในอนาคต รวมทั้งความสำคัญของการสร้างประชาสังคมที่มีตัวตนและส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างเสมอภาค มีคุณภาพ และสร้างสรรค์
วัตถุประสงค์
1. เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยในประเด็นความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม กฎหมาย และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน
2. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สตรีสามารถใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมืออย่างมีประสิทธิผล ทำให้สตรีมีพลังในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน
3. เพื่อส่งเสริมแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ดังที่เทิดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ และกลไกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
4. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการก่อตั้งและสร้างความเข้มแข็งองค์กรสตรีในทุกระดับ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ชายหญิง ให้สอดคล้องกับแนวทางของปฏิญญาสากล สิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5. ส่งเสริมศักยภาพของประชาสังคมเพื่อให้เห็นตัวตน และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างเสมอภาค มีคุณภาพและสร้างสรรค์
เครื่องหมายมูลนิธิ
เครื่องหมายของมูลนิธิมีลักษณะแสดงถึงรูปร่างของผู้หญิง ด้านในสุดจะเห็นว่าความเข้มของสี และลักษณะของเส้นเหลี่ยมมุมแสดงถึงความเข้มแข็ง ส่วนด้านนอกลายเส้น แสดงถึงความละเอียดอ่อนของผู้หญิง และลักษณะการซ้อนทับกันหลายๆ ชั้นแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการอยู่รวมกันของคนหมู่มาก จึงต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือกติการ่วมกันขึ้นมา และในขณะเดียวกันก็เกิดการพัฒนาไปเป็นลำดับชั้น
เมื่อมองจากแกนกลางด้านในขยายกว้างออกไปคล้ายกับวงปีของต้นไม้ตามธรรมชาติ จึงเปรียบให้เห็นว่าในขณะที่ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต และผู้หญิงก็สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ดังนั้นผู้หญิงจึงเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สวยงาม และเข้มแข็ง
กิจกรรม
กิจกรรมของมูลนิธิ เช่น
- โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง (Paralegal Training-Workshop: “Women for Justice; Justice for Women)
- โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทภาคเหนือ (Paralegal Training Proj
- โครงการฝึกอบรมนักวิจัยด้านสตรีศึกษา (Feminist Research Training Project)
- โครงการสัมมนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
- การให้ทุนวิจัยและทุนการศึกษาด้านสตรีศึกษา ฯลฯ
เครือข่ายองค์กร : องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรีและสิทธิมนุษยชน
ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2545
พื้นที่ปฏิบัติงาน : จังหวัดต่างๆในประเทศไทย และภาคพื้นภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก
ที่ตั้ง : อาคารโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบท ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
E-mail : forward.women2002@gmail.com