หลักการและเหตุผล

ในกระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมนั้น ผลกระทบต่อมนุษย์เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสตรี ซึ่งมีเป็นจำนวนมากโดยปริมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อาจถูกมองข้ามไปได้ โดยที่โลกทัศน์ทางวิชาการจำเป็นต้องมีมิติที่กว้างขวางและเป็นอิสระ ดังนั้น วิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสตรี ควรจะได้มีการสนับสนุนและขยายงานให้รุดหน้าไปให้ก้าวทันกับการศึกษาด้านอื่น ๆ

การมองปัญหาที่เกี่ยวกับสถานภาพ บทบาท ความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ในสังคมของสตรีในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองจำต้องมีการวิเคราะห์กันอย่างเป็นระบบและอย่างรอบด้าน ความรู้ ความเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาเฉพาะนี้ ตลอดจนการเผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของสถาบันการศึกษาที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดมีขึ้น และการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสตรีย่อมเป็นประโยชน์ต่องานการศึกษา ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ได้มีการให้ความสนใจกันเพิ่มมากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่สหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2518 เป็นปีสตรีสากล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี เพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาสันติภาพของโลก และมีการกำหนดให้ปี พ.ศ. 2518 - 2528 เป็นทศวรรษสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ และขอให้ประเทศสมาชิกจัดให้มีองค์กรสตรีระดับชาติ ในการนี้รัฐบาลไทยได้สนองรับนโยบาย และกำหนดให้สตรีเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาบทบาทและความสามารถของสตรีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529)

ถึงแม้ว่าทศวรรษสตรีแห่งสหประชาชาติจะได้ผ่านพ้นไปแล้วก็มิได้หมายความว่า การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสตรีจะยุติตามลงไปด้วย เพราะภารกิจสำคัญยิ่งที่ผูกมัดรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดก็คือ การพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประเทศนั้น สตรีย่อมมีบทบาทสำคัญ และในการพัฒนานั้น ย่อมต้องคำนึงถึงเงื่อนไขด้านคุณภาพของประชากรด้วย ดังนั้น งานพัฒนาสตรีจึงยังต้องดำเนินต่อไปทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

 

ภูมิหลัง

คณะสังคมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของสถาบันการศึกษาระดับสูง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการที่จะส่งเสริมความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มีบุคลากรซึ่งมีความสามารถประสบการณ์ และความสนใจในปัญหาสตรีอยู่แล้ว ได้จัดตั้งโครงการสตรีศึกษาขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2529 เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า วิจัยตลอดจนรวบรวมข้อมูลในประเด็นปัญหาสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและเอกชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาสตรี

ต่อมาได้มีการยกฐานะและรับรองโครงการสตรีศึกษาเป็นศูนย์สตรีศึกษา หน่วยงานระดับภาควิชาสังกัดคณะสังคมศาสตร์ ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระดับอุดมศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แยกหน่วยราชการนับแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ศูนย์สตรีศึกษาตั้งอยู่ในอาคารสตรีศึกษา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างจาก TV Campaign for Third World Women’ 89 ของประเทศนอร์เว โดยการประสานของ Norwegian Association of Women Jurists (NAWJ) และมีอาคารของโครงการฝึกอบรมกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบท ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Norwegian Association of Women Jurists (NAWJ) และ Frauen Anstiftung e.v. แห่งประเทศเยอรมัน ซึ่งขณะนี้ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ Heinrich Boell Foundation

 

ปรัชญา

ศูนย์สตรีศึกษา เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งเพื่อสนับสุนนและขยายงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสตรีโดยอยู่บนฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวม

 

ปณิธาน

ศูนย์สตรีศึกษา เป็นหน่วยงานที่สนับสุนนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ตลอดจนรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นปัญหาสตรี ตามหลักการของสหสาขาวิชา (Interdiscipline)

 

วิสัยทัศน์

ศูนย์สตรีศึกษา มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการมีส่วนร่วมของสตรีในการพัฒนาด้วยการสนับสนุนทางวิชาการทั้งในระดับ ชุมชนท้องถิ่น อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและนานาชาติ

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อดำเนินการจัดการหลักสูตร และงานวิจัยด้านสตรีศึกษาในมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับนานาชาติ
  2. เป็นแหล่งสารสนเทศสตรีศึกษาในระดับแนวหน้าของประเทศและนานาชาติ
  3. รณรงค์ เผยแพร่ แลกเปลี่ยน และให้บริการวิชาการด้านสตรี
  4. ประสานงานกับหน่วยงานราชการ เอกชน และชุมชนในการ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งในและต่างประเทศ

วัตถุประสงค์ที่กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้นนี้เกิดจากความต้องการที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจต่อคุณูปการของผู้หญิงที่มีต่อสังคม แต่ถูกแฝงเร้นและบดบังในทุก ๆ ประเทศ และในทัศนะทางประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะพัฒนากรอบทางทฤษฎีเพื่อวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของสาเหตุ รูปแบบและมิติต่าง ๆ ของการถูกครอบงำ และเอารัดเอาเปรียบในสังคมที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการประเมินผลที่มีลักษณะวิพากษ์ต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นพิจารณาด้านผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อสตรี นอกจากนั้น ยังประสงค์ที่จะแสวงหาทางเลือกในด้านกรรมวิธี นโยบายและยุทธวิธีทางการพัฒนา ที่สำคัญที่สุดจะมุ่งเน้นในเรื่องการจัดทำเอกสารและการวิเคราะห์องค์กรต่าง ๆ ของผู้หญิงและการต่อสู้ของผู้หญิงกับสภาพการถูกครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

วัตถุประสงค์ต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการศึกษาหรือแนวทางการศึกษาที่เอาจริงเอาจังต่อทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ต่าง ๆที่มีอยู่ในขณะนี้ พร้อมด้วยทัศนะที่จะชี้ให้เห็นและพร้อมกันนั้นก็เพื่อจะแก้ไขทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ อันมีลักษณะอคติทางเพศฝังแน่นอยู่ภายใต้ทฤษฎีเหล่านั้น และเพื่อที่จะแสวงหาระเบียบวิธีการศึกษาที่การปฏิบัติกับทฤษฎีการเรียนการสอนและการวิจัย สามารถผนึกร่วมเป็นเอกภาพได้

 

กลยุทธ์

1. ดำเนินการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสตรีศึกษา

    1.1จัดให้มีกระบวนการจูงใจและคัดเลือกบุคลากรอย่างมี ประสิทธิภาพ
    1.2 จัดระบบการจูงใจ เพื่อให้มีผลการปฏิบัติงานที่ดี

2. พัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

     2.1 จัดการบริหารงานบุคคลตามหลักการที่ทันสมัย
     2.2 จัดอบรมเพิ่มทักษะที่ส่งเสริมการทำงาน ให้โอกาสในการเพิ่มพูนความรู้

3. ดำเนินการพัฒนาแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

4. ทบทวน วิเคราะห์ และประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

5. ดำเนินการจัดหาพัสดุครุภัณฑ์และขยายอาคารสถานที่ตามความจำเป็น

6. ดำเนินการจัดหางบประมาณในการดำเนินงาน

 

กิจกรรมศูนย์ฯ

1. งานฝึกอบรม

  • โครงการฝึกอบรมความเป็นผู้นำให้แก่สตรีชนบท
  • โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงในชนบท
  • โครงการฝึกอบรมนักวิจัยด้านสตรีศึกษา
  • โครงการฝึกอบรมนักการเมืองสตรี
  • โครงการฝึกอบรมด้านวิจัยสตรีศึกษาและสิทธิมนุษยชนสตรีให้กับประเทศในพื้นภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ได้ดำเนินงานมาแล้ว เช่น ประเทศเวียดนาม ลาว และจีน

2. โครงการวิจัยช่วงปี 2543 – 2544

  • กระบวนการต่อสู้กับการลดทอนความเป็นมนุษย์ของ “สาวคาราโอเกะ”
  • ชีวิตความเจ็บปวดของลูกสาวผู้ถูกขาย กรณีศึกษาลูกสาวลาหู่ที่ถูกครอบครัวขายเป็นสินค้า
  • การจัดการเครือข่ายธุรกิจชุมชนของกลุ่มสตรีบ้านป่านอต
  • มุมมองของผู้หญิงต่อบทบาทความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจหลังเข้าสู่การค้าขายในระบบตลาด
  • ความรุนแรงในครอบครัว : มุมมองของผู้หญิง
  • ระบบความเชื่อและแบบแผนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในระบบสืบพันธุ์ของหญิงที่อยู่ในการค้าประเวณี
  • สถานะสตรีศึกษา (2522-2543) : วิชาการสตรีศึกษาตามแนวทางชาตินิยม
  • มิติทางสังคมวัฒนธรรม : การตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดของหญิง-ชาย ในจังหวัดเชียงใหม่
  • การเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงการจัดการป่าชุมชน จังหวัดลำพูน
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองของหญิงรากหญ้า : อดีต ปัจจุบัน อนาคต
  • ค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวในเครือข่ายทางสังคมของผู้หญิงฮิวเมี่ยน (เย้า) ภายใต้วิถีการผลิตเชิงพาณิชย์และระบบสังคมที่ให้อำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ กรณีศึกษาแม่ค้าชาวฮิวเมี่ยนในตลาดแห่งหนึ่งของชุมชนเมืองเชียงใหม่
  • การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมนิยม
  • ผู้หญิงในหนังไทย:กระบวนการถ่ายทอดและผลิตซ้ำ ผู้หญิงในรูปแบบอุดมคติ
  • บทบาทของปัจจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจและกฎหมายต่อการประกอบอาชีพธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของผู้หญิง
  • ตามรอย Comfort Women ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

3. เอกสารเผยแพร่

จดหมายข่าวภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ เอกสารทางวิชาการ รายงานการประชุมสัมมนา รายงานประจำปี และจุลสารสตรีศึกษา

4. กิจกรรมอื่นๆ

การสัมมนา เสวนา การประชุม นิทรรศการ งานแสดงสินค้าหัตถกรรมของกลุ่มผู้หญิง ฯลฯ

 

ศูนย์สารสนเทศสตรีศึกษา

งานสารสนเทศของศูนย์สตรีศึกษา ขณะนี้ศูนย์สารสนเทศมีหนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ ภาษาไทยและอังกฤษ รวมประมาณ 15,000 รายการ นับเป็นศูนย์สารสนเทศสตรีศึกษาที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย

เปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ในวันและเวลาราชการ (08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น.) โทรศัพท์ 053-943572 ต่อ 13