INSIDE/OUT : LESBIAN THEORIES, GAY THEORIES

Edited By Diana Fuss

แนะนำโดย ฉลาดชาย รมิตานนท์ 

หนังสือเล่มที่ต้องการแนะนำเป็นหนังสือที่ห้องศูนย์สารสนเทศสตรีศึกษา ศูนย์สตรีศึกษา ภาควิชา
สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ อาจเก่าไปหน่อยคือพิมพ์ปี ค.ศ.1991 แต่ภาควิชาเพิ่งได้มาเก็บไว้ให้นักศึกษาและผู้สนใจอ่าน ชื่อบรรณาธิการคือ Diana Fuss (น่าจะอ่านว่า ไดอานา ฟัส) เป็นหนังสือปกกระดาษ 
ความหนา 288 หน้า ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชื่อดังคือ Routledge แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่นักศึกษาไทยส่วนใหญ่มีปัญหา ชื่อของหนังสือคือ Inside/Out : Lesbian Theories, Gay Theories

ข้อความสรุปสารัตถะที่ติดมากับหนังสือมีความว่า บรรดาเลสเบียนและเกย์ (อย่างน้อยในสังคมตะวันตก ในสังคมไทยก็เป็นอย่างนั้นบ้างแล้ว-ผู้เก็บความ) คนเหล่านี้ได้เดินทางหรือ “ก้าวออกมา” สู่ภาวะ “กำลังทำอะไร” (หรือต่อสู้เคลื่อนไหว-ผู้เก็บความ) ซึ่งหมายถึง กำลังทำการกำหนดนิยามใหม่อย่างถอนรากถอนโคนทัศนะต่าง ๆ ของสังคมในเรื่องเพศวิถี (sexuality) กับเพศภาวะ (gender) กันอยู่เลยทีเดียว บรรดาบทความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Inside/Out (ซึ่งผู้เก็บความอยากแปลว่า “ถกกันให้ถึงกึ๋น” หรือ “ลากไส้กันออกมา”-ผู้เก็บความ) หนังสือเล่มนี้ใช้วิธีการอธิบาย การโต้แย้งหรือ “approaches” ที่ต่าง ๆ กัน (เช่น จิตวิเคราะห์, การถอดรื้อ/deconstruction. สัญวิทยา/semiotics และทฤษฎีวาทกรรม/discourse theory) เป็นต้น ในการตรวจสอบการสร้างภาพตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า เพศและความแตกต่างทางเพศ/sexual difference ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม (หรือหนังสือ-ผู้เก็บความ) ภาพยนตร์ วิดีโอ (video) ดนตรีและภาพถ่าย นอกจากนั้นก็ยังเข้าไปเกี่ยวข้องถกเถียงในเรื่องรูปร่าง (figures) ต่าง ๆ ของ “ดิวาส์” (divas) และ “ไดค์ส” (dykes) (เป็นศัพท์สะแลง-ผู้แนะนำ) ค้างคาวดูดเลือด (vampires) (ประเภทเดียวกับ “แดร๊กคูรา” ผู้หญิง-ผู้เก็บความ) และบรรดาราชินี (queens) นอกจากนั้นผู้เป็นเจ้าของบทความที่ Fuss นำมารวมเล่มยังยกประเด็นต่าง ๆ เช่น เอดส์/AIDS, ภาพโป๊ภาพเปลือย หรือ “pornography” (ซึ่งนักสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง เช่น แนวเสรีนิยม แนวมาร์กซิสม์ สตรีนิยมวัฒนธรรมมองว่าเป็น “ภาพลามก” นอกจากนั้นยังยกประเด็นเรื่อง “ชอบสั่งชอบสอน” หรือ “pedagogy” สภาวะการเป็นผู้ประพันธ์ (authorship) และปฏิบัติการนิยม (activism) ขึ้นมาเขียนถึงด้วย ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าหนังสือเรื่อง Inside/Out ได้เปลี่ยนการมุ่งมองจากเรื่องเพศ (sex) ไปสู่ความโน้มเอียงทางเพศ (sexual orientation) ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทาย (provoking) ให้เกิดการคิดพิจารณากันในมโนทัศน์หรือเจตนคติต่าง ๆ (concepts) ในเรื่องราวทางเพศกับการเมือง (พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเมืองเรื่องเพศสัมพันธ์ก็น่าจะได้-ผู้เก็บความ”

อนึ่งมีคำอยู่หลายคำที่อาจทำให้เราสับสน เช่น Diva หรือ ดิวามีมากมายหลายความหมาย เดิมที Urban Dictionary ให้ความหมายว่าคือ ผู้หญิงชั่วสำส่อนเหมือนหมาตัวเมียในฤดูติดสัตว์ (bitch) เธอเป็น   ผู้หญิงที่จะต้องได้อะไรที่เธอมุ่งหวังตามวิธีการของเธอเองเท่านั้น หรือไม่ก็ไม่เอาเลย (คล้ายกับผู้หญิงที่ ถ้าไม่ได้ทั้งหมดตามที่ฉันต้องการ ฉันก็ไม่เอาอะไรเลย-ผู้เก็บความ) โดยปกติแล้วการใช้คำว่า diva ในความหมายนี้มักมีนัยของสิ่งที่เรียกว่า “หยาบ” (rude) และใช้กับคนที่ถูกถือว่าเป็นคน “ยกตนข่มท่าน” (belittles people) คิดว่าทุกคนอยู่ภายใต้หรือต่ำกว่าเธอ พร้อมทั้งคิดว่าตัวเธอนั้นเป็นที่รักของผู้คนมากมายล้นเหลือ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้น เธอจึงมีลักษณะเห็นแก่ตัว ถูกตามใจเสียจนเคยตัว (spoiled) และมักจะแสดงละครมากจนเกินไป (เว่อร์-ผู้แนะนำ)                                                                                    

Diva ในอีกความหมายหนึ่งคือ ผู้หญิงที่เป็นนักแสดง โดยปกติใช้กับนักร้องนำในละครโอเปร่า ผู้ซึ่งมักจะมีความสามารถพิเศษ (talented ในแบบที่คนไทยเรียกว่ามี “พรสวรรค์”-ผู้เก็บความ) แต่ว่าเธอมักจะเป็นคนที่ยโสโอหัง ยกตนข่มท่าน เรียกร้องต้องการเป็นใหญ่ตลอดเวลา (imperious) และเจ้าอารมณ์ (temperamental) สุด ๆ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบหรือปัจจัยของความพิเศษของเธอคือ ความสามารถ/ “พรสวรรค์” ของเธออนุญาตให้เธอมีพฤติกรรมที่ไม่สละสลวย หรือ “เถื่อน ๆ” ในสายตาคนอื่นได้ (ในภาษาไทยอาจมีคนมองว่าเธอเป็นผู้หญิง “ดอกทอง” ก็ได้ ตัวอย่างเช่น นักร้องหญิงชื่อดังของตะวันตก มาดอนนา (Madonna) ซึ่งล้อกับชื่อพระมาดาของพระเยซู หรือพระแม่มาเรีย/มารี อนึ่ง Diva มีชื่อในภาษาอิตาเลียนว่า “prima donna) ซึ่งมักจะติดภาพสาวเปรี้ยวแถมโป๊ปรากฏโฉมในโฆษณาชุดชั้นในผู้หญิง เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยมีรายการโทรทัศน์ชื่อ “Divas Café” ออกอากาศใน “Voice TV.” ซึ่งเป็นรายการที่มีเป้าหมายคือกลุ่มผู้ชมเป็น “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีระบบคิดและปฏิบัติการแบบ “คนรุ่นใหม่” คือ “ถือว่า ตัวเอง หลุดออกมาจากวิธีคิดเก่า ๆ ในเรื่องความสัมพันธ์หญิง-ชายแบบเดิม ๆ ที่ “เชย” และล้าสมัยแล้ว ภาพลักษณ์ของพิธีกรสะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบนี้อย่างชัดเจน พวกเธอเรียกตัวเองว่าเป็น “สาว divas” รายการนี้ออกอากาศทุกวันศุกร์ รายการที่ผู้เก็บความได้ชมคือ วันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2553 มีการนำเสนอผู้ชายที่เซ็กซี่ยี่สิบคนจัดโดยนิตยสาร “Heat” ทั้งหมดนี้ “ดารา” หรือ “เซเล็บฯ” (celebrities) จากวงการบันเทิง/กีฬาต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การนำเสนอครั้งนี้ เดวิดเบ็คแฮม (Divid Beckham) อดีตนักฟุตบอลระดับตำนานชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีชื่อเสียงในเรื่องฟุตบอลอยู่ แต่เขาหันมาเอาดีทางเป็นนายแบบ โดยเฉพาะชุดชั้นในชายที่แสดงให้เห็น “กล้าม” โดยเฉพาะอวัยวะเพศที่โป่งออกมา ซึ่งพิธีกรคนหนึ่งพูดถึง “วิชาการสตรีนิยม” เรื่อง “สิทธิของผู้หญิงในการที่จะจับจ้อง/the female gaze)” ที่มีสถานะเช่นเดียวกับ “การจับจ้อง” ของผู้ชาย และการจับจ้องแบบเกย์ อนึ่ง “the gaze” เป็นมโนทัศน์หรือวาทกรรมของนักวิชาการตะวันตก เช่น John Berger ในหนังสือ Ways of Seeing (1972) เรื่องนี้ในแวดวงสตรีศึกษาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากเรื่องหนึ่ง เป็นเสมือนการปรับเปลี่ยนกระแสความคิดจาก “นักสตรีนิยมรุ่นเก่า” มาสู่วิธีคิด “สตรีนิยมรุ่นใหม่” ที่จัดระบบหลวม ๆ ว่าเป็นพวก “โพสต์โมเดอร์นนิสต์” แต่ก็มีกระแสข่าวที่เปิดเผยใน google ว่าผู้สร้างสรรค์รายการโทรทัศน์นี้เป็น “ผู้ชาย” แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนตัวหรือยังไม่ทราบแต่พิธีกรหลักคือ ลักขณา  ปันวิชัย ชื่อเล่นว่า “แขก” เป็นคอลัมนิสต์ด้วยใช้นามปากกาว่า “คำ ผกา” คนที่สองคือ มณฑกานต์  รังสิพราหมณกุล ชื่อเล่นคือ “เปีย” บรรณาธิการบริหารแห่ง “มาดามฟิกาโร่” และ วันรัก  สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจค้นข้อมูลต่อได้ง่ายมากเพียงแต่ใช้ google search ก็พอแล้ว อนึ่งในที่นี้ผู้แนะนำไม่ได้บอกว่า “ดี/ไม่ดี” “ถูก/ผิด” ขึ้นอยู่กับผู้ชมในฐานะที่เป็นองค์ประธานต้องเป็นคนตัดสินเอาเองตามวิธีคิดแบบ “ประชาธิปไตย ปัจเจกชนนิยม"

สรุปแล้วดูเหมือนว่าการใช้คำว่า “Divas” เป็นการเล่มเกมส์การเมืองทางภาษาประเภท “ด่ากันไปด่ากันมา” โดยใช้ภาษาที่ “ดุเดือด เผ็ดร้อน” เสียดสีดูถูกกล่าวหากันไปมา แต่ภาษาในกลุ่ม “Divas” อ้างว่าเป็น “ภาษาผู้หญิงรุ่นใหม่” ใช้ตอบโต้กับใครก็ได้ ผู้มีเพศภาวะใดก็ได้ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นรายการโทรทัศน์ประเภทนี้จึงเป็นรายการที่มี “ตลาดเฉพาะ” (nitch market) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนรุ่นใหม่” “dyke” อ่านว่าไดด์ส์ เป็นศัพท์สแลง (slang) “dike” ก็เรียก เป็นคำนามหมายถึง “lesbian” นอกจากนั้นยังมีการใช้คำนี้ในฐานะเป็นสแลงของคำวิเศษ (slang adjective) ที่พูดถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับ “lesbianism” คำนี้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะที่การตรวจสอบของ “ที่มา” หรือ “กำเนิด” ต่าง ๆ โดยเฉพาะกำเนิดของ “masculine woman” อนึ่งนักสตรีนิยมแนวหญิงรักหญิงพยายามใช้คำนี้ว่าเป็นคำที่เป็นกลางและสามารถใช้แทนคำว่า lesbian ได้ (Wikipedia, the free encyclopedia)

อย่างไรก็ตามคำ ๆ นี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ๆ ในการทำความเข้าใจ เนื่องจากมีการนำไปใช้ในความหมายที่แตกต่างมากมาย เช่น “dykes bar” “Baby dykes” “Bear dyke” “Bi-Dyke” หรือ “half dyke” “Femme dyke” “Lipstick dyke” “lipstick lesbian” หรือ “dolly dyke” “chap stick Dykes” และอื่น ๆ อีกมากมาย (บรรยายไม่หมด โปรดดูใน Wikipedia-ผู้แนะนำ)

“Vampires” หรือ “ผีดูดเลือด” มีความหมายว่าเป็นสิ่งในตำนาน (mythical beings) ผู้ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเสพย์หรือกินสารัตถะแห่งชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในนิทานพื้นบ้าน กล่าวกันว่า “แวมไพร์” ที่ยังไม่ตายมักจะมาเยี่ยมคนต่าง ๆ ที่ตนรักและทำให้เกิดการกลั่นแกล้งหรืออาเพศต่าง ๆ และความตายในละแวกที่ตนอาศัยอยู่ในขณะที่มีชีวิต (Wikipedia)

คำว่า “แวมไพร์” ในทัศนะของผู้แนะนำเห็นว่าแม้เป็นคำที่มีความหมายในทางลบ เมื่อนักสตรีนิยมจำนวนหนึ่งนำมาใช้โดยเฉพาะกับ แวมไพร์ที่เป็นผู้หญิง ก็น่าจะมีความหมายในเชิงการช่วงชิงการให้ความหมายใหม่กับคำเก่า เป็นเกมส์การเมืองเรื่องทางภาษาที่พวกเธอคิดว่าได้ผล ถ้าจะพูดในภาษาการเมืองไทยระดับ “เผ็ดมัน” ก็อาจมีภาษาแบบนี้ เช่น “มึงว่ากูดอกทอง กูก็ดอกทองจริง ๆ แต่มันหนักหัวมึงอะป่าว” หรือ “กูจะเอากับใคร เอาอย่างไร เป็นเรื่องของกู ไม่เกี่ยวกับมึง” หรือ “ถ้ากูจะแก้ผ้าถ่ายแบบมันก็เป็นสิทธิของกู” หรือ “กูประท้วงกรณีการจับอากงไปขังจนตายด้วยการถ่ายรูปนมกูแล้วโพสท์ใน “โซเชีลมีเดีย” กูมันผิดอะไร มันเป็นสิทธิของบุคคลในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ?” สรุปว่าใครที่ชอบดู ชอบฟังก็ดูไป ฟังไป ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องดู ไม่ต้องฟังก็เท่านั้นเอง

ที่จริงแล้วในทัศนะของผู้แนะนำ นักสตรีนิยมหรือ “คนรุ่นใหม่” ในเมืองไทยก็มีทั้งส่วนเหมือนกับส่วนต่างจากนักสตรีนิยม “รุ่นเก่า” เช่น รุ่นแม่ รุ่นพี่ จุดที่เหมือนกันที่ขอยกเป็นประเด็นมานำเสนอสั้น ๆ คือทั้งคู่กลับไปสู่วิธีคิดเรื่อง “ประชาธิปไตย” “สิทธิ” “เสรีภาพ” “ความเสมอภาค” และ “การครอบงำ” ต่อสู้ต่อรองการครอบงำของผู้ชายหรือ “Masculine Domination” เหมือนกัน (โปรดกลับไปดูหนังสือชื่อนี้โดย Pierre Boudieu และนักคิดที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน-ผู้แนะนำ) ส่วนที่ไม่เหมือนกันคือวิธีคิดว่าด้วยการต่อสู้ต่อรองและปฏิบัติการที่ตามมา คือ “พวกรุ่นใหม่” ย้ายการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยผู้หญิงจากการเมืองเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการเมืองไปสู่พื้นที่ของเพศ (sex) เพศภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ของ “ผู้หญิงที่แตกต่างหลากหลายซับซ้อนและมีพลวัต วิธีการที่ใช้คือการถอดรื้อวาทกรรมเก่า ๆ เหล่านั้นแล้วประกอบสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้าง “ภาษาใหม่” ของตนเองได้จึงใช้ภาษาเก่าที่มีอยู่ แต่ช่วงชิงการใส่ความหมายใหม่เข้าไปนั่นเอง